3/24/2009

Q 34 C 2


26 มีนา – 6 เมษานี้ จะมีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ฯ สิริกิติติ์
ด้วยความขยันขันแข็ง (อีกนัยหนึ่งก็ว่าง และเงินเก็บก็เริ่มจะร่อยหลอลงเรื่อยๆ) จึงไปรับงานขาย CD สื่อการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน นักศึกษา ในโซนแบบเรียน และหนังสือสำหรับเด็ก
ด้วยเหตุนี้ก็เลยเกิดไอเดียว่าจะ (แอบ) ติดเอาหนังสือทำมือไปขายด้วย
เป็นไดอะรี่ขนาดก่อ หรือบันทึกการเดินทางประเภทสาว
(ย่อมาจาก “ก่อความยาวสาวความยืด”)
ตั้งชื่อหนังสือไว้ว่า “ดอยไปดอยมา” เขียนเก็บไว้ช่วงปลายปีที่แล้ว และไม่อยากเก็บไว้อ่านเองคนเดียว เดี๋ยวมีคนหาว่างก (ถ้ามีนะ)
คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 เมษานี้ คงพอได้ (แอบ) ขายกันอยู่ประมาณ 5 - 6 วัน กำลังพอสุกพอดี

ถ้าใครสนใจใคร่อ่านและสะดวกในเรื่องเวลา ก็เรียนเชิญมาจับจองเป็นเจ้าของกันได้นะครับ ที่บูธ Q 34 โซน C 2 ระหว่างวันที่ 1 – 6 เมษายนนี้
ต้องบอกก่อนว่าของมีจำนวนจำกัด เนื่องจากทำมาไม่มาก
ขอบคุณสำหรับผู้ที่คิดจะอุด (สนับสะ) หนุนล่วงหน้าเน่อ

เตือนกันนิดนึงนะครับ ว่าการอ่านนั้นเป็นรากฐานที่สำคัญ
เพราะฉะนั้น... เจอกันที่บูธครับ ; )

3/16/2009

北の教室


ในทีแรกกะว่าแค่จะหยิบมาเก็บไว้เฉยๆ เพราะรู้มาว่ามาจิใช้รูปที่ผมถ่ายนั้นลงประกอบคอลัมน์ด้วย แต่พอได้อ่านเรื่องที่มาจิเขียนลงนิตยสารภาษาญี่ปุ่นแจกฟรี DACO (จากการแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นไทยให้อีกทอดหนึ่งของคุณน้อง babyshamPOO — ขอบคุณมาก) แล้วเห็นว่ามาจินั้นเขียนถึงพี่น้องชาวไทยภูเขาในประเด็นที่น่าสนใจเอามากๆ อยากให้คน (ไทย) พื้นราบอย่างเราๆ ได้อ่านกัน หากจะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง

ฉบับที่อยู่กับผมนั้น เป็นตอนที่ 13 แล้ว สำหรับคอลัมน์ “ห้องเรียนทางเหนือ”
(北の教室) ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

.........

รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าแปลงสัญชาติไทยให้แก่ชาวไทยภูเขา ซึ่งกฎหมายไทยฉบับปัจจุบันระบุไว้ว่า ผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยก่อนปี 1985 หรือผู้ที่พำนักในประเทศไทยมาแล้วมากกว่า 10 ปี และชำระภาษีตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด มีสิทธิ์ร้องขอการใช้สัญชาติไทย แต่ในปัจจุบันพบว่าชาวไทยภูเขามากกว่า 30 % นั้นไม่ได้ถือครองสัญชาติไทย ด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยากสำหรับคนในหมู่บ้านที่ไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ กรณีที่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับผู้ปกครองหมู่บ้านจึงมีมาก แต่กระบวนการต่างๆ นั้นกลับไม่มีความคืบหน้า

การถือครองสัญชาติเป็นส่วนประกอบพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงไม่สามารถจะวัดความไม่เท่าเทียมหรือความเสียเปรียบอันเนื่องมาจากการไม่มีสัญชาติได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกเลยที่พี่น้องชาวไทยภูเขาจะต้องการมีสิทธิถือครองสัญชาติบ้าง แต่ดูเหมือนว่าการที่ได้ถือครองสัญชาติไทยนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้

อย่างแรกคือ สัญชาติที่พี่น้องชาวไทยภูเขาสามารถถือครองได้นั้นมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน รัฐบาลจะมอบใบอนุญาตพำนักบนเขตภูเขา (บัตรชาวไทยภูเขา) หรือเปรียบเสมือนบัตรแทนตนให้แก่พี่น้องชาวไทยภูเขา ซึ่งบัตรนี้เพียงแค่ยอมรับการอาศัยอยู่เท่านั้น ไม่ใช่รับรองการเป็นพลเมือง ซึ่งถูกจำกัดทั้งการโยกย้ายถิ่นและการเลือกอาชีพ และเนื่องจากไม่ได้ยอมรับว่าเป็นคนไทยอย่างถูกต้อง ใบอนุญาตทำงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขา เมื่อไม่มีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ต้องถูกจ้างงานด้วยอัตราค่าแรงที่ถูกแสนถูก

ในความเป็นจริงแล้วการได้รับสัญชาติอย่างถูกต้องดูเหมือนจะไม่ได้รับสิทธิต่างๆเช่นเดียวกับคนไทยเลย บัตรประจำตัวประชาชนที่คนไทยใช้อยู่ทุกวันนี้จะมีการพิมพ์หมายเลขรหัสไว้ แต่บัตรสำหรับชาวไทยภูเขานั้นจะมีการเพิ่มตัวเลขเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นประชากรใหม่ หรือเป็นประชากรกลุ่มที่สองของประเทศ
กล่าวคือ— เมื่อใครมองเห็นก็จะสามารถทราบได้ทันที ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในเรื่องต่างๆ เช่น การหางานทำ นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีพาสปอร์ต แต่ในการเดินทางไปต่างประเทศก็ยังถูกจำกัด ทั้งยังอาจถูกเพิกถอนสัญชาติตามคำสั่งของรัฐบาลได้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถพูดได้เลยว่ารัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์

จากเดิมที่พี่น้องชาวไทยภูเขาสามารถโยกย้ายถิ่นภูเขาที่อาศัยได้อย่างอิสระ แต่สิ่งที่ได้รับจากการได้สัญชาติไทย กลับกลายเป็นผลตอบแทนที่ดูเหมือนว่าจะไร้ซึ่งความอิสระโดยสิ้นเชิง

.........

ป.ล. ขอร่วมไว้อาลัยกับพญาอินทรี ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยคารวะ
แม้จะหยุดโบยบินในสวนอักษรแล้ว แต่ผลงานของคุณลุงจะไม่มีวันตายครับ

3/05/2009

C'est la vie

แม้มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปในด้านของวัตถุ
แต่ความทรงจำเก่าๆ นั้นยังคงอยู่ดังเดิม
มีบ้างที่เลือนจาง แต่ไม่เคยหลงลืม
เพราะเพียงแค่นึก ก็รู้สึกได้...


ถ้าจะให้อุปมา เมืองที่มีศูนย์ห้าตัวก็เป็นเสมือน “บ้านเพื่อน” ที่ผมจะไปเมื่อไหร่ก็ได้ และก็ยังคงมีความสุขดีในทุกครั้งที่กลับไปบ้านหลังที่ว่า ด้วยที่เคยศึกษาเล่าเรียนและเที่ยวเล่น, ดื่มกิน, นอนตื่นสาย, ถือไฟฉายบุกบ้านผี, ซ้อมดนตรีตอนดึกๆ, เลี้ยงดูปูเสื่อหมาที่มาจากไหนก็ไม่รู้, เตะบอลโกลด์หนูข้างศูนย์แพทย์, เสียน้ำตาเป็นถังให้กับความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันเข้าใจ, ลุกขึ้นมาผัดมาม่าตอนตีสอง เพราะแค่อยากกินเส้น, (แอบ) จี๊จ๊ะเล่นกับรุ่นน้อง (เพราะของแบบนี้ทำโจ่งแจ้งไม่ได้) , ร่วมประกวดร้องเพลงคาราโอเกะ และเมาเละเทะกับเพื่อนๆ ตอนออกไปรับน้องนอกสถานที่

เอ่อ... เท่าที่นึกได้มีแต่เรื่องเหลวไหลแฮะ (-_-")

เสาร์ที่ผ่านมา ผมพาคุณชัดเจนไปเยี่ยมเยือนบ้านเพื่อนหลังที่ว่า
เที่ยวนี้เราไปกันแบบเบาๆ (เพราะหาสมาชิกเพิ่มไม่ได้)
คุณชัดเจนกะจะไปลองเลนส์ตัวใหม่ที่ไปหยิบยืมรุ่นน้องมา
ส่วนผมก็แค่แต่งหน้าทำผมและพกอารมณ์หลวมๆ ติดไปด้วย

ออกจากกรุงเทพฯ ตอนบ่ายอ่อนๆ เพื่อให้ทันชมพระอาทิตย์ตกที่แหลมแท่น
เราแลนดิ้งแถวๆ หาดวอนนภาก่อน ตอนราว 4 โมงเย็น
นั่งดูกีฬาทางน้ำพวกวินเซิร์ฟและบานาน่าโบ้ตไปพลาง จิบน้ำมะพร้าวไปพลาง

ย่ำค่ำเราก็ไหลเลยไปอยู่แหลมแท่น
ท้องฟ้าสีส้มอมชมพูยามเย็นปลายเดือนกุมภาฯ ที่นั่นโรแมนติกชะมัด
เสียดายที่คุณชัดเจนเป็นเพื่อนชาย คงทำหน้าที่ในเขตอ้อมแขนของผมได้ไม่ดีนัก และอาจพานทำลายบรรยากาศบริเวณนั้นให้กับผู้พบเห็นได้ ผมจึงจำต้องปล่อยให้สหายหนุ่มถ่ายรูปตามอัธยาศัย
(ขออภัยที่แอบคิดมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

ตกกลางคืนเราเดินเล่นในงาน “บางแสนย้อนยุค” พอเป็นพิธี
จัดได้ดีทีเดียวครับงานนี้ หลากหลายและได้ความรู้ดี
มีขนมย้อนๆ มีของเล่นย้อนๆ มีแผ่นเสียงย้อนๆ มีบรรดาคุณนายแต่งตัวย้อยๆ และมีรถโบราณๆ จอดโชว์อยู่ตลอดทางเดินในงาน คนคลั่งรถโบราณคงชื่นบานกันเป็นแถวๆ ที่ได้เห็นกันจะๆ (เท่าที่สังเกต ส่วนใหญ่เป็นทะเบียนกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่แฮะ)

มีอย่างหนึ่งที่ผมขัดๆ ยังไงชอบกล คือ บางแสนมีเสื้อยืดกับเขาด้วยแล้ว (เว้ยเฮ้ย!) เป็นเสื้อสกรีนประมาณ “I Love เชียงใหม่” “ซื้อมาจากหัวหิน” หรือ “ของฝากจากอัมพวา” ซึ่งของทางบางแสนนั้นหนาเป็นเสื้อยืดสีดำสกรีนสีขาวพาดหราตรงหน้าอกอ่านออกเสียงได้ว่า “บาง-สิบ-หมื่น”
“.....”

ผมและคุณชัดเจนไปยืนแช่ (เนื่องจากเตียงผ้าใบที่ทางงานเตรียมไว้นั้นถูกจับจองด้วยเด็กๆ แถวนั้นหมดแล้ว) ตรงหนังกลางแปลงที่ฉายเรื่อง “แฟนฉัน” อยู่นานสองนาน
“อีนมใหญ่เมียมึงๆ ”
คุณชัดเจนหัวเราะชอบใจเมื่อถึงฉากที่ไอ้แจ๊กล้อเจี๊ยบเรื่องน้อยหน่า
หนังเรื่องนี้ผมได้ดูครั้งแรกในห้องสโลปที่คณะ ตอนที่ทางทีมงานเขามาฉายรอบนักศึกษาก่อนที่จะเข้าฉายโรงจริงๆ
จำได้ว่าตอนนั้นผมถึงกับน้ำตาไหล ในตอนที่พ่อของน้อยหน้าไปเคาะประตูบ้านของพ่อเจี๊ยบเพื่อล่ำรา ทั้งๆ ที่เป็นคู่แข่งตลอดกาลกันในเรื่องของวิชาชีพ

ผมว่าสำคัญและมีความหมายนะครับ
ถ้าอยากบอกลา ต้องเห็นหน้าค่าตากัน
เพราะอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้ร่วมยิ้ม หรือร่ำไห้
โชคชะตานั้นอาจไม่นำพาให้ใครพาดผ่านมาพบเจอกันอีกเป็นครั้งที่ 2
แต่ก็เป็นช่วงๆ ของชีวิตแหละครับ มีพบ ก็มีพราก
อยู่ที่ว่าเราจะได้พบเจอและรู้จักกับใคร ณ เวลาไหน
4 วัน 4 เดือน หรือ 4 ปี
เราใส่ใจแค่ไหนกันในความสัมพันธ์ ณ ขณะนั้น
บางทีสั้น— ยาว อาจไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้รู้จักกัน

และเป็นประจำเกือบทุกครั้งที่พอมาบางแสนทีไร ตอน 3 ทุ่มกว่าๆ ก็จะได้เวลา “ไชโย”
ไชโยเป็นร้านเหล้าหลัง ม. ที่เจ๋งมากๆ ใน “โสตคติ” ของผม
หมายถึงผมชอบแนวเพลงที่ร้านนี้เปิดน่ะครับ
ไม่เคยเจอเหมือนกัน ร้านไหนที่รู้จักและเปิด Bloodhound Gang โดยเฉพาะเพลง Three point one four ซึ่งถ้าเป็นภาษาเก้งกวางก็ต้องพูดทำนองว่า “ชอบได้อีก” หรือ “ชนะเลิศ” อารายแบบเนี้ยย

มีเครื่องดื่มเย็นๆ สักขวดสองขวดนะ
มีเพลงไทย เพลง’เทศ เพราะๆ เปิดคลอนะ
มีคู่สนทนาที่ผ่านร้อนฝนมาพอกันนะ
อีกหน้าใสกิ๊ง! และสายตาปิ๊ง!ๆ ของน้องๆ นักศึกษาที่มาเที่ยวในร้านล่ะก็นะ...

อย่างที่บอก— คล้ายๆ ว่าไปเที่ยวบ้านเพื่อน
สุขใจ ทุกข์ใจ ไปเถอะครับ ไปผ่อนคลายเอาที่บ้านมัน
ถึงแม้ว่าตัวมันนั้นดูเหมือนจะเย็นชาและไม่ได้ช่วยอะไรๆ เราให้มันดีขึ้น แต่อย่างน้อยแม่มันก็ต้องเอ่ยชวนให้ทานข้าวทานปลาด้วยกันก่อนกลับอย่างแน่นอน

ทานให้อิ่มเลยนะครับ
แล้วจะพบกับรอยยิ้มบางๆ ที่แสนสุขตรงมุมปากของทางเจ้าบ้านเขา

3/02/2009

เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ : จบบริบูรณ์


ซัดแฮตทริค (hat-trick) ไปเรียบร้อยแล้วสำหรับคุณตุ๊กตุ่นที่มาขึ้น blog ผม
ถ้าใครว่างจากการงาน ตามไปดู 2 ครั้งก่อนได้ที่ http://1306ix.blogspot.com/2007/06/blog-post_21.html <-- อันนี้ภาคแรก และ http://1306ix.blogspot.com/2008/10/2.html <-- อันนี้ภาคต่อ

คุณตุ๊กตุ่นเป็นเพื่อนของผมเอง (ที่จริงนั้นออกไปทาง ‘ลูกพี่’ เสียมากว่า)
และคุณตุ๊กตุ่นที่ว่าก็กำลังจะเข้าพิธีวิวาห์ครับ
คงเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่จะเอาเรื่องของพี่เขา (มัน) มาเล่าสู่กันฟัง
คนมีครอบครัวแล้วผมคงมิบังอาจละลาบละล้วงจาบจ้วงและล่วงเกินอะไร (มัน) ได้อีก ด้วยความที่เกรงใจพี่เขา (มันและเมียมัน) เสียเหลือเกิน
เพราะเวลาแวะไปหาคุณตุ๊กตุ่นทีไร ก็มักจะมีเรื่องเล่าม่วนๆ ติดมันติดไม้ติดมือกลับออกมาด้วยเสมอ และผมนั้นก็ติดอกติดใจเสียเหลือเกินกับบรรยากาศโต๊ะไม้หลังบ้านริมคลองนั่น มันติดลมจนต้องนั่งยาวอยู่บ่อยๆ

ลมที่บ้านคุณตุ๊กตุ่นนั้นติดง่าย และเย็นสบายมากครับ— ยืนยัน

มาจะกล่าวบทไปปี 2009 นี้คงถึงวันวัยและเวลาที่เหมาะควรดีแล้ว สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เกิดในยุค Dookie, พราว, พอง พอง และขุนทอง อสุนี
Do you know what I mean? (อันนี้ก็ Oasis) หรือในวัยใกล้เคียง บวกลบไม่เกิน 2 ปี เท่าที่สังเกตเอาจากคนรู้จักมักจี่รอบข้างที่ยังเจอหน้าค่าตากันอยู่ ผมประมวลผลเอาได้พอประมาณว่า จากที่มีอยู่ 10 พวกกลั้นใจสละละความโสด (บางคนก็ละความโฉด) ไปแล้ว 8 และเป็นผมที่เป็นไอ้หนึ่งใน 2 คนที่เหลือ แต่ที่น่าเครียดและคับแค้นใจเป็นอย่างยิ่งคือ ไอ้คนข้างๆ ผมนี่มันดันมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนแอบเอนเอียงไปทางชอบผู้ชายน่ะสิ เฮ้อ... นี่หรือเมืองพุทธ T_T

เอาล่ะ ตัดพ้อกันพอแล้ว รอบนี้มีภาพมาแปะหนึ่งใบ
ผมลากคนทั้งคู่ไปเดินจูงมือกันถ่ายใน มช. มากับมือ เพื่อจะให้เป็นของขวัญในวันงาน (รอบนี้มั่นใจมั่กๆ ว่าต้องถูก ที่ใช้คำว่า ‘คนทั้งคู่’ มันแตกต่างกับคำว่า ‘คนทั้งสอง’ อย่างเห็นได้ไม่ชัด แต่รับ/รู้/สึกได้) และถือเป็นภาคอวสานของไตรภาค “เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ” ด้วยเลย

อ้อ.. ภาคสุดท้ายนี่สะกดด้วย ‘เล่า’ นะครับ ไม่ใช่ ‘เหล้า’ เหมือนเก่า^^

cOngRatuLatiON!

.........

ป.ล. ถ้าใครเคยอ่าน 2 ภาคก่อนผ่านมาแล้ว
The Front of 13, ไอ้คุณณัฐ และ ตุ๊กตุ่น นั้นเป็นคนๆ เดียวกันครับ
ดูจากหน้าตาที่เด็กร้องไห้เห็นแล้วยังต้องหยุดแบบนั้น แต่ดันมีชื่อเล่นจริงๆ ว่า “ตุ๊กตุ่น” มันดูขัดกันอย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ ให้ตายเถอะ!

และถ้าพอจะสังเกตกันอยู่บ้าง จากแรกเริ่มเดิมทีที่เคย ‘ซิ่ง’ อย่างสุดเหวี่ยง
เพื่อนผม ‘Soft’ ลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา และความน่าจะเป็น
เมื่ออยู่บนเส้นทางแห่งความรัก