8/12/2013

My Grandpa has a charm


ก๋งจากพวกเราไปในวัย 99 ปี
แกจากพวกเราไปอย่างสงบด้วยความถึงพร้อมทุกปวงประการ
เวลาคำนึงนึกถึงทีไร ภาพที่เห็นในหัวจะต้องมีเงาตะคุ่มๆ สองสามตัว— สมุนของแกโผล่ติดมาด้วยทุกครั้งไป ภาพทรงจำที่มีของผมสองสามเรื่องเกี่ยวกับก๋งจึงหนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวกับหมาด้วย

1.  ชีวิตประจำวัน
ทุกๆ เช้ามืดก่อนไก่ขันก๋งแกจะลุกขึ้นจากที่นอน หนีบกระเป๋าใบจ้อยที่มีของใช้เล็กๆ น้อยๆ ส่วนตัว ส่องไฟฉายค่อยๆ ดุ่มเดินทะลวงความมืดไปกับผ้าขาวม้าผืนเก่งยังครัวหลังบ้าน ตั้งหม้อข้าว ก่อฟืนจุดไฟและหุงต้มข้าวเพื่อเลี้ยงลูกสมุนแกอีกสามตัว ซึ่งไอ้เจ้าสามตัวนี่ก็เป็นรุ่นที่เท่าไหร่ผมก็จำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่ารอบข้างกายของก๋งนั้นไม่เคยขาดลูกสมุนเลย แกเลี้ยงดูเหมือนลูกเหมือนหลาน เหมือนเพื่อนสนิทที่รักใคร่รู้ใจกันและกัน เวลาที่ได้ขยี้ขยำหัวเจ้าลูกสมุนทั้งสามนั้นแลดูจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในชีวิตไม่กี่อย่างของก๋งในวันวัยที่ชราภาพแล้ว


2.  ก๋งผมมีอาคม
ไม่เพียงแต่แค่พวกเราหรือครอบครัวเราเท่านั้นที่รู้ หากชาวบ้านในละแวกหมู่บ้านของเราก็ล้วนเชื่อมั่นและยืนยันกันแบบนั้น หากลูกเต้าเหล่าใครหน้าไหนถึงคราวซวยโดนหมากัดเข้าให้ พวกผู้ใหญ่ก็จะต้องอุ้มพาเด็กเคราะห์ร้ายคนนั้นพร้อมกับเสียงร้องไห้กระจองอแงอันดังสนั่นหวั่นไหวปานโลกจะแตกมาให้ก๋งผมรักษา

วันไหนอยู่บ้านและได้ยินสุ้มเสียงที่ว่านั้นค่อยๆ ดังตรงเข้ามายังบ้าน ผมก็จะรู้ในทันทีว่าไม่ใครก็ใครโดนงับเข้าให้แล้ว

วิธีการรักษาของก๋งนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด ก่อนอื่นก็ทำความสะอาดแผลให้เรียบร้อย แล้วก๋งก็เพียงประทับฝ่าเท้าข้างขวาของแกที่มีรอยสักของสิ่งศักดิ์สิทธิ์รูปร่างคล้ายสิงห์ที่น่องลงไปบนบาดแผลรอยเขี้ยว และแกก็จะพึมพำร่ายมนต์สักพัก ใช้เวลาไม่น่าจะเกินนาทีก่อนจะราฝ่าเท้าออก และพ่นคาถากำกับทับลงไปยังบาดแผล

เพี้ยง! หาย!

ถึงตอนนี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี ไม่ยุ่งยากหรือสร้างความเจ็บปวดเพิ่มเติมใดๆ ก๋งใช้เวลาเยียวยาด้วยฝ่าเท้าหนึ่งนาที ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ แล้วจากที่บ่อน้ำตาแตกแหกปากร้องไห้กันจ้าละหวั่น เด็กๆ เหล่านั้นก็เงียบกริบ แผลสดนั้นยังไม่หายก็จริง แต่ถ้าดูให้ดีๆ แผลที่มีนั้นจะสมานขึ้นมาก ที่สำคัญที่สุดคือความเจ็บปวดจากบาดแผลนั้นทุเลาลงไปอย่างน่าอัศจรรย์

แล้วจากนั้นพวกผู้ใหญ่ถึงจะพาเด็กๆ เหล่านั้นไปอนามัยหาหมอแผนปัจจุบัน เพื่อทำแผลและฉีดยากันพิษสุนัขบ้าในลำดับต่อไป มิพักต้องพูดถึงสมัยเก่าก่อนที่ยังไม่มีโรคที่ว่า ทุกอย่างจบลงที่บ้านผม แล้วแยกย้าย

ผมที่อยู่ตรงนั้นเวลานั้นก็ได้แต่ตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ ปลาบปลื้มไปกับเรื่องราวมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น

ผมในตอนนั้นไม่ประสาหรอกว่าวิชาอาคมคืออะไร หรือก๋งผมมีคาถาเยียวยารักษาบาดแผลหมากัดจริงไหม แต่ก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าก๋งเป็นหมอเทวดา ก๋งของผมอาจมีความสามารถพิเศษที่สามารถดูดซับความเจ็บปวดจากพวกเด็กๆ มาเก็บไว้กับตัว ก่อนจะแปรรูปไปเป็นพลังงานในรูปแบบอื่นก็เป็นได้— แต่อันนี้ไม่รู้ เพราะผมเองก็ไม่เคย จะรู้ก็เพียงว่านั่นเป็นความทรงจำที่พิเศษและมีค่ามากสำหรับผม


วันเวลาไหลเลื่อนเคลื่อนไป
ผมโตขึ้นโตขึ้น ย่างก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ได้รับการศึกษาในระดับมัธยม สนุกสนานไปกับทีวีสีและเกมส์แฟมิลี่
ก่อนที่เรื่องราวมหัศจรรย์ในวัยเยาว์เริ่มจะเลือนหาย
เสียงคุ้นหูที่นานมากแล้วไม่ได้ยินก็หวนกลับมาอีกครั้ง
ทว่าคราวนี้เป็นเสียงร้องโอดโอยของผมเอง

เย็นวันนั้นผมเดินกลับบ้าน กำลังเพลิดเพลินจดจ่อไปกับเกมส์กดในมือจนพลาดท่าไปเหยียบหางเจ้าหมา (จากไหนก็ไม่รู้) ที่นอนสงบนิ่งอยู่ข้างทาง จนโดนมันงับเข้าจมเขี้ยวที่น่องและต้นขา รู้ตัวอีกทีพ่อก็มาอุ้มพาผมกลับบ้าน แล้วตรงไปหลังบ้าน และพอไปถึง ก๋งนั้นก็ตั้งท่าเตรียมอยู่แล้ว

พอถึงมือก๋ง (ซึ่งถ้าจะพูดให้ถูกก็คงต้องบอกว่า ‘ถึงเท้า’) ก็เป็นไปตามพิธีการ
ใจผมนั้นอยากตรงไปอนามัยเพื่อทำแผลเลยอยู่แล้ว โตแล้วนี่ ไม่อยากจะมาเสียเวลามาให้ก๋งเหยียบให้หรอก ดูจะไร้สาระและเสียเวลาเปล่า ผมทำท่าปฏิเสธและอิดออดบอกกับพ่อว่าไม่เอา ไม่อยากเหยียบ ผมที่อยู่ตรงนั้นเวลานั้นไม่มีอารมณ์จะตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ และอดแคลงใจไม่ได้ว่าจะต้องมาทำอะไรแบบนี้ไปเพื่ออะไร ความปลาบปลื้มเลื่อมใสในตัวก๋งหล่นหายไปตอนไหนผมเองก็ไม่รู้
จนฝ่าเท้าที่คุ้นเคยได้ทาบลงบนความเจ็บปวดของผม
ก๋งพึมพำร่ายอาคมเช่นเคย

เพี้ยง! หาย!

ในท่านอน ผมหันเหลียวไปมองหน้าก๋ง
แกยิ้มให้ พร้อมๆ กับการสลายหายไปของความแคลงใจ

..........

3.  ผม กับปัจจุบัน ในวันที่ก๋งจากไป
ทุกวันนี้ผมเองยังคงนึกถึงก๋งอยู่เสมอๆ ในเวลาที่ขยี้หัวหมาเล่นที่บ้าน
เรื่องนี้นั้นคนรอบข้างผมหลายคนก็หลงลืมไปบ้างแล้วตามกาลเวลา แต่แปลกที่ผมเองกลับจำได้ขึ้นใจไม่เคยลืม และผมก็รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ใครก็ตามได้ฟัง  ไม่ว่าคุณจะมีความคิดเห็นเป็นเช่นไร
กับเรื่องที่เล่ามาว่าก๋งผมมีอาคม

________________________________________________________
**ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร About Chan ฉบับที่ 4 ประจำเดือน ก.ค. 56
***จะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจก็ตามแต่ความเรียงชิ้นนี้เป็นชิ้นที่หนึ่งร้อยพอดิบพอดีใน blog ของข้าพเจ้าเอง..