6/14/2007

กับหมา กับผ้าขาวม้าหนึ่งผืน


1.
ส่วนหนึ่งจากความเรียงเรื่อง “เครื่องประกันความหวั่นไหว” โดยกระบี่ไม้ไผ่ ได้เขียนถึงความสุขไว้ โดยอ้างถึงคำสอนจากพระธรรมปิฎกว่า จังหวะของความสุขนั้นมีอยู่ 3 ท่วงทำนองด้วยกัน หนึ่งคือ ความสุขจากการเสพวัตถุ สอง ความสุขจากคุณธรรม และสาม ความสุขจากปัญญา

“ความดีก็เหมือนกัน ถ้าทำไปแล้วคนอื่นไม่เห็นไม่ชื่นชม บางทีใจเราก็หม่นหมองไปด้วย จึงเรียกว่า เป็นความสุขที่ยังอิงอาศัยอยู่ ฉะนั้นเราจึงต้องก้าวต่อไป
สู่การมีปัญญารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้ว่าธรรมดาของสิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรที่เป็นสังขาร จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เป็นความชั่ว ความดี เป็นวัตถุหรือเป็นจิตใจ มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น เมื่อรู้แล้วก็จะเข้าถึงกระแสของธรรมชาติ... พอปัญญารู้เท่าทันมันแล้ว เราก็วางใจได้ รู้สึกเบาสบาย เราก็รู้เพียงแต่ตามความเป็นจริงว่า เวลานี้สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อรู้ทันแล้วสิ่งนั้นก็ไม่ย้อนมาทำพิษแก่จิตใจของเรา ใจของเราก็เป็นอิสระ ความสุขที่มีปัญญารู้เท่าทันพร้อมอยู่จะไม่ต้องพึ่งอาศัยสิ่งใดอีก มันจะเป็นความสุขที่เต็มอยู่ในใจเรา และเป็นสุขที่มีอยู่ประจำอยู่ตลอดเวลา”

ความสุขที่แท้จริง – พระธรรมปิฎก

2.
ควันจากท่อไอเสียอบอวลครอบคลุมไปทั่วเกิดเป็นภาพสลัวมัวมึน เสียงแตรรถดังเป็นระยะคล้ายการด่าทอกันไปมา แสงสีของจอมอนิเตอร์เล็กใหญ่กับป้ายโฆษณาหลายหลากตามท้องถนนสว่างวาบแยงตา ฝูงหญิงชายเด็กเล็กคนชราเดินไปมาขวักไขว่ไร้สัมพันธ์ ไอระอุล่องลอยขึ้นจากพื้นถนนคอนกรีตในมหานคร ส่งผลให้ค่ำคืนร้อนอบอ้าวกว่าปกติ ความเหนื่อยเพลียจากการงานตลอดวันของชายหนุ่มรับส่งกับบรรยากาศชวนฝันร้ายภายนอก แสงสีเสียงเหล่านั้นกำลังขับกล่อมมอมเมาเขาให้เข้าสู่ภวังค์ภายใต้อ้อบกอดของเมือง

วันแล้ว วันเล่า...

ชายหนุ่มกำลังนั่งรถเมล์กลับบ้าน
............

3.
ในทุกครั้งทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณบ้าน ผมจะตรงเข้าไป “หลังบ้าน” ที่ๆ ก๋งใช้เป็นที่พำนักพักอาศัยในช่วงเวลากลางวัน และเอ่ยคำทักทายสวัสดีก๋งเป็นคนแรกของบ้านเสมอ ซึ่งผมคิดไปเองว่าในช่วงเวลาแห่งความชราแบบนี้ สิ่งที่ก๋งคงอยากเห็นและได้ยินน่าจะเป็นหน้าตาซุ่มเสียงของลูกๆ หลานๆ เช่นผมมากกว่าเสียงจากลำโพงวิทยุหรือภาพจากโทรทัศน์

หลังบ้านที่ว่าก็จะเป็นบ้านเล็กๆ สไตล์ "Unpnang" แปลเป็นไทยได้ว่า "ไร้ผนัง" ตกแต่งแบบ "Minimalism" แปลเป็นไทยได้อีกว่า "แต่พองาม" คือมีน้อยแต่งน้อย มีเยอะก็แต่งน้อย สร้างโดยทีมงานช่างแถวบ้านที่รู้จักคุ้นเคยกัน ร่วมด้วยแรงงานของพ่อผมอีกแรง ใช้เวลาสร้างไม่นาน เพราะไม่ได้มีความซับซ้องในโครงสร้าง มีแค่หลังคากันแดดกันฝนที่ทนทานหน่อยก็เป็นอันใช้ได้

ก๋งไม่ชอบอยู่ในบ้าน คงเป็นเพราะอึดอัด ผมเองคิดว่าหลายคนก็คงเป็นเช่นนั้น เราควรพาตัวเองอยู่ในที่โปร่งโล่งสบายมากกว่าถ้ามันไม่ลำบากนักในการเลือก
ในช่วงเช้ามืดของทุกวันก๋งจะตื่นจากห้องนอน แล้วออกมาหลังบ้านเพื่อต้มข้าวให้หมา ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน ต้มหกโมงก็จะไปเสร็จราวเก้าโมง ก๋งบอกว่าต้มนานนานมันขึ้นหม้อดี มันไม่แข็ง ซึ่งในหนึ่งวันก็จะต้มสองรอบ เช้ากับบ่าย เรียกว่าช่วงที่ว่าเป็นเวลาทองของน้องๆ ชาวแก๊งเลยทีเดียว

ผมแอบยืนดูก๋งต้มข้าวหมาอยู่นาน ภาพของก๋งเรียบนิ่ง ทุกสิ่งรอบๆ ดูผ่อนคลายสบาย ในหัวก็คิดโน่นนี่ไปเรื่อย หนึ่งในเรื่องหลากหลายในหัวก็คือ ณ ตอนนั้นผมจะกำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไรหนอ ภาพที่จะปรากฎต่อหน้าเด็กหนุ่มในยุคสมัยถัดไปจะเป็นภาพแบบไหนกัน จะแตกต่างไปจากภาพที่ผมเห็นที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้แค่ไหน และใครคนนั้น ตอนนั้นจะรับรู้ได้ถึงความสุขที่เกิดขึ้นแบบผมหรือเปล่า

คุณวินทร์ เลียววาริณเคยเขียนไว้ว่า ความสุขเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เกิดจากสิ่งเล็กๆ
เรียบง่าย พอเพียง ลงตัว ไม่มากเกิน ไม่น้อยไป

ผมพอจะเข้าใจจากภาพที่เห็น

มีแค่ผ้าขาวม้าเก่าๆ หนึ่งผืนกับหมาคู่บุญอีกสองสามตัวก็คงเพียงพอแล้ว

No comments: